ปกติแล้วข้อสอบที่ใช้ในการสอบระดับประเทศส่วนใหญ่จะมีมาตรฐานอันหนึ่งคือการบาลานซ์ช็อยส์ ถ้าข้อสอบมี 40 ข้อ แบบ 5 ตัวเลือก (1 2 3 4 5) คำตอบที่ถูกต้องจะกระจายไปที่แต่ละช๊อยส์อย่างสม่ำเสมอ คืออย่างละ 8 ข้อ (8 × 5 = 40)
ที่เป็นแบบเพราะป้องกันไม่ให้คนที่เดามั่วข้อสอบแบบทิ้งดิ่งได้คะแนนสูงเกินไป ลองคิดดูว่า ถ้าคำตอบเทไปทางช๊อยส์ใดช๊อยส์หนี่งมากกว่าช๊อยส์อื่นๆ คนดวงดีเดาฝนช๊อยส์นั้นเยอะๆ ก็จะได้คะแนนสูงกว่าคนที่เดาช๊อยส์อื่นๆ ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่เดามั่วเหมือนๆกัน เราอาศัยจุดนี้มาเป็นคะแนนฟรีได้ครับ ทำยังไง?
ยกตัวอย่าง ถ้าข้อสอบมี 25 ข้อ คำตอบก็มักจะกระจายไปที่แต่ละช๊อยส์ ช๊อยส์ละ 5 ข้อ (รูปบนสุด)
สมมติว่าเวลาสอบเหลืออยู่ 5 นาที ยังเหลือข้อที่เราทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำอยู่ 7 ข้อ (ดูรูปกลาง ข้อที่ยังไม่ทำคือ 1, 10, 18, 20, 21, 23 และ 25) คนส่วนใหญ่ก็จะฝนคำตอบสุ่มๆไปให้ครบทุกข้อ ซึ่งโอกาสถูกคือ 1 ใน 5 ก็จะได้คะแนนอีก 1-2 ข้อจาก 7 ข้อที่เดา
แต่ถ้าเราลองสังเกตสักนิดว่าข้อที่เราได้ทำไปแล้ว 18 ข้อนั้น ตอบช๊อยส์ 4 ไปแค่ครั้งเดียว แปลว่าอีก 7 ข้อที่ยังไม่ได้ทำ คำตอบที่ได้คะแนนมีโอกาสจะเป็นช๊อยส์ 4 สูงกว่าช๊อยส์อื่นๆ ให้เราฝนคำตอบช๊อยส์ 4 ทั้ง 7 ข้อที่ว่างอยู่ในเวลา 5 นาทีสุดท้าย โอกาสถูกจะสูงขึ้นเป็น 3-4 ข้อ จาก 7 ข้อที่เดา
คะแนนที่ได้ (ข้อละ 4 คะแนน) หาก 18 ข้อที่ทำได้ ถูกไป 14 ข้อ ได้มาแล้ว 56 คะแนน ทีนี้มาดูข้อที่เดา 7 ข้อ
- ถ้าเดาแบบไม่มีหลักการ โอกาสถูก 1-2 ข้อ (4-8 คะแนน) จะได้คะแนนออกมา 60-64 เต็มร้อย
- ถ้าเดาโดยใช้หลักการนี้ โอกาสถูก 3-4 ข้อ (12-16 คะแนน) จะได้คะแนนออกมา 68-72 เต็มร้อย
เห็นมั้ยครับว่า เดาถูกเพิ่มขึ้นแค่ 1-2 ข้อ คะแนนเปลี่ยนไปเยอะเลย ลองเอาเทคนิคนี้ไปใช้ดูระหว่างฝึกทำข้อสอบย้อนหลังครับ ดูว่าเราจะได้คะแนนเพิ่มฟรีมาฉบับละกี่คะแนนกันบ้าง
แต่ยังไงก็ตามไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ เทคนิคนี้ก็มีเงื่อนไขอยู่ครับ คือเราต้องทำข้อสอบได้อย่างน้อยๆครึ่งฉบับขึ้นไป โดยข้อที่ทำได้นั้นต้องมั่นใจด้วย ข้อไหนที่ลังเลก็อย่าเพิ่งไปฝนคำตอบ เพราะจะมีผลตอนดูว่าคำตอบไหนที่เราตอบไปน้อยที่สุดในการบาลานซ์ช๊อยส์
และอีกข้อจำกัดคือ หากคำตอบของข้อที่เราทำได้อย่างมั่นใจมันกระจายไปแต่ละช๊อยส์สม่ำเสมอก็จะใช้เทคนิคนี้ไม่ได้ (แต่โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้น้อยครับ)
ในตอนต่อไป จะพูดถึงเคล็ดลับในการสอบ ให้เราได้เวลาหาคำตอบเพิ่มขึ้นจากเดิม