สมมติว่ามีเวลาในการสอบวิชาหนึ่ง 90 นาที ถ้าหักเวลาที่ต้องเขียนชื่อกับฝนกระดาษคำตอบไปราวๆ 5-10 นาที เวลาที่เหลือ 80-85 นาที ก็เอาไว้แก้โจทย์แต่ละข้อ เพื่อหาคำตอบให้ครบทุกข้อ มันควรจะเป็นแบบนี้ถูกไหมครับ แต่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นครับ
เมื่อวิเคราะห์กระดาษทด ตรวจสอบดูเส้นทางการคิด พบว่านักเรียนจำนวนมากใช้เวลาเพื่อหาคำตอบตามที่โจทย์ถามกันเพียง 60-65 นาทีเท่านั้น เวลาอีก 15-20 นาที ถูกใช้ไปกับการคิดหาบางสิ่งที่โจทย์ไม่ได้ถามโดยไม่รู้ตัว (คิดเป็น 20-30% ของเวลาสอบเลยทีเดียว)
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? ลองนึกถึงตอนทำข้อสอบกันดูครับ นอกจากความรู้ในเรื่องที่ออกสอบแล้ว มีอะไรอีกบ้างที่มีผลต่อคะแนนที่เราจะได้…
เงื่อนไขสำคัญคือเวลาที่จำกัดครับ แม้จะทำข้อสอบได้ทุกข้อ แต่ถ้าทำไม่ทันก็เสียคะแนน คะแนนจึงขึ้นกับสิ่งอื่นด้วย เช่น
– ไหวพริบ (ทริคได้คะแนนฟรี ในตอนที่ 3)
– การวางแผนทำข้อสอบ (กินลูกชิ้นก่อน ในตอนที่ 2)
– การบริหารเวลา ที่เรากำลังจะพูดถึง
ตัวข้อสอบ ถ้ามองแบบผิวเผินจะเห็นว่ามีทั้งข้อง่าย ข้อยาก โจทย์สั้น โจทย์ยาว แต่ถ้าเรามองลึกลงไปอีก มันจะมี “โจทย์ดัก” ปนอยู่หลายข้อเลยทีเดียว โจทย์ดักมีหลายแบบครับ ที่มักทำให้พลาดกันแบบไม่รู้ตัว อะไรบ้าง?
1. ดักคำตอบ คือมีจุดลวงในโจทย์ 1-2 จุด โดนจุดไหนก็มีคำตอบรอไว้หมด (อันนี้เราจะพูดถึงทางแก้ในตอนต่อๆไป)
2. ดักให้คิดวน คิดอ้อม ถ่วงเวลา จะลวงเราได้หลายวิธี คือ
– ใช้ข้อความในโจทย์ชี้นำให้คิดไปทางอ้อม หรือไปเสียเวลาหาในสิ่งที่โจทย์ไม่ได้ถามก่อนจะเจอคำตอบ
– โจทย์ยาว ให้ข้อมูลมาเพียบ แต่สิ่งที่ใช้หาคำตอบมีอยู่นิดเดียว ลวงให้เราเสียเวลาอ่านกันไป
– โจทย์ให้ตัวเลขมาละเอียด แต่คำตอบในแต่ละช๊อยส์ ตัวเลขห่างกันมาก แค่คิดคร่าวๆแบบประมาณค่า ก็รู้แล้วว่าตอบข้อไหน
โจทย์พวกนี้แหละครับที่ทำให้เราเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ ถ้าใครรู้ทัน ระวังไว้แต่แรก จะได้เวลาส่วนนี้คืน เอาไปทำข้อสอบเพิ่มได้อีกหลายข้อ จากประสบการณ์ครูบอกได้เลยว่าคะแนนจะเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 10% เลย ที่เป็นแบบนี้เพราะเหมือนเราได้เวลาคิดหาคำตอบเพิ่มมาเมื่อเทียบกับตอนแรกที่ยังติดกับดักนี้
ทำยังไงถึงจะรู้ทันพวกโจทย์ดัก โจทย์พาคิดอ้อม โจทย์ถ่วงเวลา
ที่ผ่านมาเราอาจไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อน หรืออาจตื่นเต้น ประหม่าเวลาสอบ หรือยึดติดกับรูปแบบวิธีคิดแบบที่เคยชิน เรียนมายังไงก็คิดอย่างนั้น
จริงๆแล้วโจทย์บางข้อนั้นมีวิธีคิดได้หลายเส้นทาง ถ้าน้องคิดได้แล้วจากเส้นทางหนึ่ง ก็ลองหาดูว่ามีทางอื่นอีกไหมที่ไปถึงคำตอบได้ ฝึกแบบนี้ไปสักพักสมองจะเริ่มเรียนรู้และเลือกเส้นทางที่เร็วที่สุดเองโดยอัตโนมัต
ตอนนี้น้องได้รู้ถึงกลลวงกับดักในโจทย์แล้ว ลองเอาไปฝึกใช้ ฝึกสังเกตดูระหว่างจับเวลาทำข้อสอบที่บ้าน บางคนอาจจะเห็นตั้งแต่ตอนเปิดสแกนข้อสอบก่อนเริ่มทำด้วยซ้ำ (ดูตอนที่ 2) แล้วเราจะรู้ทันก่อนเลยว่า เราต้องไม่หลงจมเวลาไปกับโจทย์บางข้อนานเกินไป หรือบางข้อแทบจะไม่ต้องเขียนทดอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะแค่สังเกตเห็นบางจุด บางคำ บางประโยค ก็ได้คำตอบแล้ว
ในตอนต่อไปมีอีกเคล็ดลับหนึ่งที่ช่วยให้น้องทำโจทย์ได้เร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ 2-3 เท่าตัว