“การเขียนของคนเรา ต่อให้เขียนเร็วแค่ไหน.. ก็ไม่ไวไปกว่าความคิด” เห็นด้วยมั๊ยครับ มีหลายครั้งที่เรามักจะเคยชินหรือยึดติดกับรูปแบบการเขียน ยกตัวอย่าง
ในวิชาคำนวณที่มักต้องแทนค่าในสูตร สมมติเราจะแทนค่าในสมการ PV = nRT (ในเรื่องแก๊ส) คนส่วนใหญ่มักจะติดนิสัยเขียนสูตรก่อน (ใช้ไป 3-4 วินาที) แล้วถึงแทนค่าตัวเลขลงในบรรทัดที่สอง ถ้าบางสูตรยาวกว่านี้ก็ใช้ 6-8 วินาที ตีคร่าวๆ เขียนสูตรทีนึงก็เสียไป 5 วินาที ดูเหมือนจะไม่ได้มากมายอะไรใช่มั้ยครับ
แต่ถ้าเป็นข้อสอบทั้งฉบับ ถ้าเราต้องเสียเวลาเขียนสูตรทำนองนี้ 15-20 ครั้งล่ะ เราจะเสียเวลาไปนาทีกว่าๆ เวลาขนาดนี้ใช้ทำโจทย์ได้อีก 1-2 ข้อเลย เคยได้ยินมั้ยครับ “แค่ 1 คะแนนก็เปลี่ยนคณะที่เรียนได้” นี่ฉบับนึงทำโจทย์ได้เพิ่มขึ้น 1-2 ข้อ ถ้าต้องสอบวิชาคำนวณ 3-4 วิชา โอกาสทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นก็เป็นสิบๆคะแนนแล้ว แบบนี้ไม่น้อยแล้วใช่มั้ยครับ
รายละเอียดเล็กๆน้อยๆพวกนี้แหละครับคนส่วนใหญ่มองข้าม ตอนฝึกทำโจทย์ที่บ้าน ลองดูครับ ฝึกไม่นาน 1-2 สัปดาห์ก็เริ่มคุ้นมือกันแล้ว เวลาจะแทนค่าในสูตร ให้นึกสูตรนั้นในใจ แล้วบรรทัดแรกก็เอาตัวเลขในโจทย์แทนค่าลงไปเลย เมื่อฝึกจนชินน้องจะรู้สึกว่าทำโจทย์ได้เร็วขึ้น นี่เป็นแค่สเต็ปเริ่มต้นครับ ใครชินแบบนี้อยู่แล้วก็ฝึกสเต็ปสองได้เลยคือการคิดในใจ (เพราะคิดนอกใจ..เป็นสิ่งไม่ดี 55 ขอหน่อย)
พอน้องชินกับการแทนค่าได้โดยไม่เขียนสูตร สมองน้องจะเริ่มคิดในใจได้บ้างแล้ว เช่นการตัดทอนตัวเลขบางขั้นตอน ไปจนถึงย้ายข้างสมการ โดยอาจจะมีเขียนทดนิดๆหน่อยๆ กันหลง กันลืม เพื่อให้เห็นภาพเราลองมาดูตัวอย่างการทดเลขเพื่อหาคำตอบในโจทย์ปรนัยเรื่องแก๊ส คนส่วนใหญ่มักเคยชินกับการเขียนแบบฝั่งซ้าย คือเขียนสูตร แทนค่า แก้สมการ ได้คำตอบ
หากเรายึดติดกับหลักการ ต้องเขียนตามรูปแบบเป๊ะๆ ถ้าไม่เขียน มันคิดต่อไม่ออก ก็จะเป็นแบบซ้ายที่เขียนไปด้วยคิดไปด้วย รวมเวลาที่ใช้ก็ประมาณ 30-45 วินาที ซึ่งในความเป็นจริง สูตรบรรทัดแรกไม่ต้องเขียนก็ได้ (เพราะข้อสอบไม่ได้ให้แสดงวิธีทำ) ตัวเลขในวงกลมไม่ได้ซับซ้อน คิดรวบก็ได้ แล้วอาศัยการย้ายข้างสมการในใจนิดนึง (แค่เอา 100 ย้ายมาหารอีกฝั่ง) ก็จะย่นเวลาเขียนได้เยอะ ออกมาเป็นแบบขวา ที่ใช้เวลาคิดไม่ถึง 10 วินาที
เห็นมั้ยครับว่าน้องจะคิดได้คำตอบได้เร็วกว่าเดิม 3 เท่า ทีนี้เริ่มรู้สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ทำข้อสอบไม่ทันเวลากันหรือยังครับ
แรกๆของการฝึกอาจจะรู้สึกฝืนๆหน่อย อดทนผ่านไปให้ได้ครับ เพราะพอเราฝึกจนชินแล้ว ในการสอบจริงสมมติเราคิดแบบนี้ได้ 10 ข้อ จะได้เซฟเวลาได้ตั้ง 3-4 นาที ซึ่งพอให้ทำโจทย์ได้เพิ่มอีกอย่างน้อยๆก็ 2-3 ข้อ คะแนนสอบก็สามารถเพิ่มได้อีกราวๆ 5% จากเดิมเลยทีเดียว คุ้มที่จะฝึกมั้ยครับแบบนี้
ลองคิดดูครับ ถ้าเราใช้เทคนิคกินลูกชิ้นก่อน (ตอนที่ 2) ทริคได้คะแนนฟรี (ตอนที่ 3) การบริหารเวลา (ตอนที่ 4) ร่วมกับกับการเขียนทดน้อยๆคิดในใจให้มาก ปัญหาทำข้อสอบไม่ทันเวลาก็แทบจะไม่เจอแล้ว
น้องๆหลายคนที่ฝึกเทคนิคพวกนี้จนติดเป็นนิสัยก็ทำเสร็จก่อนเวลาได้เช่นกัน เวลาที่เหลือก็เอาไปอ่านทบทวนโจทย์บางข้อที่รู้สึก เอ๊ะ! ตอนทำรอบแรกได้อีก โดยรอบนี้เราจะใจเย็นกว่า ความรีบลนจะไม่มีแล้ว เราอาจจะมองเห็นบางแง่มุม หรือจุดที่เราไม่ทันระวัง หรือลังเลอยู่ในตอนแรก เราก็จะแก้ไขได้ทัน คะแนนก็จะเพิ่มขึ้นได้อีกครับ
ในตอนต่อไปเราจะมาพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยมาก คือลังเลระหว่างคำตอบ 2 ช๊อยส์ แบบว่าคิดมาจนจะสุดทางแล้ว มาติดอยู่นิดเดียว ต้องเลือกยังไงถึงจะได้คะแนน