ตอนนี้จะมี 3 ส่วน
– ทำยังไงเมื่อลังเลและวิธีสังเกต?
– เคสตัวอย่างล่าสุด
– สรุป
ทำยังไงเมื่อลังเลและวิธีสังเกต?
เคยเป็นมั้ยครับที่ลังเลตอนทำข้อสอบ ทั้งๆที่คิดมาจนสุดทางแล้ว สิ่งที่ช่วยให้เราได้คะแนนคือดูเจตนาของคนออกข้อสอบให้ออก จับทางให้ได้ วิธีสังเกตมีอยู่
1. ดูจากช๊อยส์ ยกตัวอย่างว่าโจทย์บรรยายข้อความมา 2-3 บรรทัด แล้วให้พิจารณาข้อความ ก ข ค ง ข้อใดถูก
1) ก เท่านั้น
2) ก และ ข
3) ข และ ค
4) ข และ ง
5) ค และ ง
สมมติว่าเรามั่นใจว่า ก ถูกแน่ๆ ส่วน ค ง ผิดแน่ๆ เหลือแต่ ข ที่เราลังเล ให้สังเกตครับว่า ข มีอยู่ในหลายๆช๊อยส์มาก จึงน่าจะถูกด้วย และในมุมของคนออกข้อสอบ ถ้าเขากำหนดให้ ข ผิด โจทย์ข้อนี้จะตัดช๊อยส์ได้ง่ายเกินไป
2. ดูจากข้อความชี้นำในโจทย์ ให้ลองอ่านโจทย์แบบไม่ใช่เพื่อหาคำตอบ แต่ให้วิเคราะห์ว่าแต่ละประโยคนั้นคนแต่งโจทย์คิดอะไรถึงเขียนแบบนี้ พอมุมมองของเราเปลี่ยนไป เราอาจจะเห็นอะไรๆมากขึ้น เช่นอาจจะตีโจทย์ไปได้อีกทางหนึ่ง หรือจับไต๋คนแต่งโจทย์ได้เลยก็มี
บางครั้งเรามั่นใจว่าเราคิดถูกแน่ๆ แต่ด้วยความกำกวมของโจทย์ ข้อความในช๊อยส์ ที่อาจตีความได้สองอย่าง หรือไม่ได้กำหนดเงื่อนไขบางอย่างมาให้ (ซึ่งพอเดาได้) หลายๆครั้งถ้าเรายึดความถูกต้องเป๊ะๆเป็นหลัก อาจจะไม่มีคำตอบหรือไม่ใช่ช๊อยส์ที่ถูกตามเจตนาของคนออกโจทย์ กรณีแบบนี้ถ้าเน้นได้คะแนน ให้ดูเจตนาของคนออกข้อสอบเป็นหลัก บางทีภาษามันดิ้นได้ เป๊ะมากไปก็ไม่ได้คะแนน
เคสตัวอย่างล่าสุด
หลังประกาศคะแนนสอบพรีแอดฯ มีน้องคนหนึ่งมาปรึกษาผม (น้องได้คะแนนสูงสุดของประเทศ) ถ่ายโจทย์มาตามรูปนี้ ประเด็นของเคสนี้คือ ข้อ B. ไนลอน 6, 6 เป็นจุดที่ทำให้เสียคะแนนจึงเอามาถาม หลังจากดูรูปแล้วอย่าเพิ่งอ่านต่อ ลองฝึกเดาเจตนาของข้อสอบกันดูครับ
ในมุมมองผม ต้องชื่นชมความฉลาดของ อ.ทีมออกข้อสอบที่เลือกจุดนี้มาออกข้อสอบพรีแอดฯ เพราะไม่มีผลต่อคะแนนสอบจริง แต่มันจี้จุดปัญหาได้ดีทีเดียว ทำไมผมพูดแบบนี้
เพราะถ้าปล่อยให้เอาจุดที่กำกวมแบบนี้มาออกสอบจริง จะกลายเป็นประเด็นที่มีเด็กหลายคนออกมาเรียกร้อง (โอกาสโดนด่าสูง) จึงชิงออกประเด็นนี้ตอนพรีแอดฯซะเลย สังเกตจากคำพูดในเฉลย ใช้ตามหนังสือเป๊ะ (ขีดส้ม) แถมยังชี้เป้าไปที่หนังสือเรียนหลักสูตรปี 60 ให้อีก (ขีดเขียว)
ขนาดในหนังสือเรียนเองยังใช้คำว่า “นิยม” ซึ่งแปลว่า ฟันธงไม่ได้ชัดเจน และจุดนี้เปลี่ยนแปลงจากที่เราเรียนๆกันมาหลายสิบปี
ตัดสินว่าเป็น homopolymer ถ้าเกิดจากมอนอเมอร์ชนิดเดียว และจะถือว่าเป็น copolymer ถ้าเกิดจากมอนอเมอร์มากกว่า 1 ชนิด เป็นพอลิเมอร์จาก อ้างอิงได้จากหนังสือเรียนก่อนหน้าปี 60 ในรูปนี้คือหลักสูตรปี 51
เราเรียนแบบนี้กันมาตลอด แล้วมาเปลี่ยนหลักการเอาตอนปี 60 แถมยังใช้คำว่า “นิยม ไม่นิยม” ที่ไม่ชัดเจนอีก แต่อย่างที่ผมบอกครับ ถ้าเราจะออกมาในข้อสอบจริง เจตนาจะไม่ใช่เพื่อชี้เป้าแบบพรีแอดฯ แต่เจตนาคือวัดว่า “รู้ไหม” อ้างอิงตามหลักสูตรปัจจุบัน ถ้าอยากได้คะแนนเราก็ต้องตอบตามหนังสือ ถ้ายึดหลักการเดิม ก็ต้องลุ้นทีหลังว่าข้อนี้จะให้ฟรีมั๊ย
สรุป
เมื่อฝึกวิเคราะห์ จับทาง เจตนาของโจทย์บ่อยๆ จนชิน เวลาอ่านโจทย์เราจะไม่ถูกโจทย์ลวง ชี้นำ หรือพาคิดอ้อม แถมยังช่วยให้หาคำตอบได้เร็วกว่าเดิม เพราะ
– บางทีช๊อยส์มันก็ฟ้องเจตนาคนออกข้อสอบแล้วว่าควรตอบข้อไหน
– บางครั้งเขาแค่ให้เราเปรียบเทียบ 2 อย่างว่าอะไรน้อยกว่า ก็ไม่คำนวณตัวเลขออกมาละเอียดเป๊ะๆให้เสียเวลา
เมื่อฝึกจนเป็นนิสัย ใจเราจะนิ่ง ไม่ลน ไม่ตื่นเต้น การตัดสินใจอะไรๆก็เฉียบแหลมกว่า (ความตื่นเต้น กลัวโจทย์ ลน เกิดจากอ่านโจทย์แล้วพยายามทำตามโจทย์สั่ง) อย่าให้โจทย์สั่งเราได้ครับ รู้ให้ทัน จับทางให้ถูก คนออกข้อสอบก็คนเหมือนกับเรานี่แหละ มีความรู้สึกนึกคิด มีหลงลืมบ้าง ผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา คิดให้ได้แบบนี้แล้วความกลัวข้อสอบจะค่อยๆลดลงไปเองครับ
พูดถึงเทคนิคในห้องสอบมาหลายอย่างแล้ว ตอนหน้าเราจะพูดถึงปัญหาที่นักเรียนเกือบทุกจนเจอ คือทำไมเรียนแล้วทำโจทย์ไม่ค่อยได้